ทำไมต้องชีวิตสาธารณะ… มีคำตอบจาก น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการโปรแกรมวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ 35 จังหวัด
“ทำไมต้องชีวิตสาธารณะ”
ฮักแพง…แปงอุบล โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดอุบล |
||
ตามปกติผมมักจะมาวิ่งออกกำลังกายในช่วงค่ำที่สนามกีฬาของหมู่บ้านเกือบทุกวัน หลังกลับจากที่ทำงานเข้าถึงบ้านแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนเขาเลิกเล่นกันพอดี ที่สนามกีฬาของหมู่บ้านจะมีผู้คนคับคั่งมาก ทั้งเตะฟุตซอล ตะกร้อ บาสเกตบอล เปตอง แอโรบิค ไท้เก็ก โยคะ วิ่ง ขี่จักรยาน แบดมินตัน ฯลฯ นับเป็นภาพที่สะท้อนความตื่นตัวเรื่องสุขภาพและการโหยหาชีวิตที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดีในยุคนี้ สนามกีฬาก็อยู่ตรงปากซอยพอดีอีกเช่นกัน ตอนเย็นๆ จึงมีรถยนต์มาจอดซ้อนสองซ้อนสามแล้วเจ้าของก็ไปออกกำลังกัน ทำให้รถติดขัดยิ่งขึ้นไปอีก แต่ก็ยังอยู่ๆ กันไปได้แม้จะขัดใจกันบ้าง บ่นด่ากันบ้างพอเป็นกระสาย ลูกสาวคนเล็กของผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น แกชอบตื่นเช้าออกไปเล่นบาสเกตบอลในวันเสาร์-อาทิตย์เสมอ เขาจะมีกลุ่มเพื่อนรุ่นพี่ที่เล่นด้วยกันอยู่กลุ่มหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งไปได้ลูกบาสเกตบอลใหม่ๆ มา 1 ลูก บอกว่ามีครูพละเขามาช่วยสอนเทคนิคการเล่น และให้ลูกบาสเกตบอลเป็นของขวัญด้วย ผมเข้าใจว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐหรือไม่ก็กทม.เป็นผู้สนับสนุน คราวหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ขณะผมเดินออกมาที่ตลาดสดหน้าซอย ได้ยินเสียงไฮด์ปาร์คที่สวนสาธารณะใกล้ๆ สนามกีฬา คนพูดอยู่บนหลังคารถยนต์ที่ดัดแปลงเป็นเวที ฟังได้ความว่าต่อต้านคัดค้านการเคหะแห่งชาติที่จะผุดคอนโดมีเนียมใกล้ๆ กับท่าจอดรถเมล์ ซึ่งเป็นที่ดินผืนสุดท้ายของการเคหะแห่งชาติที่มีอยู่ในบริเวณนี้ แต่ชาวบ้านเห็นว่าไม่ควรทำเพราะจะทำให้หมู่บ้านยิ่งแออัดยัดเยียดไปยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัญจรไปมาจะเลวร้ายลงมาก มองไปฝั่งตรงกันข้ามก็เห็นป้ายผ้าสีขาว-สีเหลือง ติดข้อความคัดค้านอยู่เต็มไปหมด ได้ผลครับ การเคหะแห่งชาติชะลอการก่อสร้างในช่วงหนึ่ง และตอนนี้กำลังก่อสร้างให้เป็นตลาดถาวรสำหรับชาวหมู่บ้านแล้ว เสียงคัดค้านก็เงียบหายไปด้วย ในหมู่บ้านเขามีการเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านกันด้วยนะครับ ประมาณครึ่งปีที่ผ่านมาเห็นจะได้เขามีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันคึกคักทีเดียว มีทีมแข่งขันกันอยู่ 3 ทีม แต่ละทีมหาเสียงกันใหญ่ ผมจำได้ว่ามีนักกิจกรรมในเครือข่ายประชาสังคมในกทม. ท่านหนึ่งลงสมัครกับเขาด้วย ทราบว่าเป็นตัวตั้งตัวตี และคนนี้แหละคือผู้รวมกลุ่มคัดค้านการสร้างคอนโดมีเนียมที่กล่าวข้างต้น ผมเฝ้าสังเกตและเรียนรู้ชีวิตรวมหมู่จากความเป็นมาเป็นไปของวิถีชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน ชีวิตสาธารณะในทัศนะของผมก็คือชีวิตที่อยู่ร่วมกันของผู้คน ซึ่งมีทั้งทุกข์ทั้งสุข ทั้งหวานทั้งขม ทั้งเบิกบานทั้งหดหู่ คละเคล้ากันไป ในสาธารณะหนึ่งๆ มีทั้งชีวิตส่วนตัว (ปัจเจก) และชีวิตส่วนรวม (สาธารณะ) อยู่ด้วยกันเป็น 2 มิติ ดังนั้นผมจึงมองว่า ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวมเป็น 2 ด้าน 2 มิติในสิ่งเดียวกัน ผมและภรรยาต่างคนต่างทำงานเพื่อสังคมอย่างหามรุ่งหามค่ำ แต่ประเด็นปัญหาส่วนรวมในหมู่บ้านที่เราอยู่อาศัยนั้นเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากบ่นเพื่อระบายออกก็เท่านั้น ในหมู่บ้านก็คงจะมีคนแบบผมอาศัยอยู่อีกไม่น้อย เราคอยเฝ้ามองและเอาใจช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่ทนไม่ได้และลุกขึ้นมาเป็นธุระให้ส่วนรวมโดยที่เราก็ไม่ได้ลงมือลงแรงช่วยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม หากจนแล้วจนเล่าก็ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนก็จะสะสมตัวของมันต่อไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤตขึ้นและในวันนั้นผู้คนที่เคยหลับไหลหรือยอมทนตลอดมา ก็จะประทุตื่นขึ้นมาเองแล้วปัญหาก็จะถูกแก้ไขกันไปเป็นคราวๆ อย่างน้อยก็จะบรรเทาเบาบางลงไปบ้างระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม ชุมชนใด ท้องถิ่นใด หรือแม้แต่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะมีชีวิตสาธารณะที่แข็งแรงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระดับจิตสำนึกสาธารณะ หรือความรู้สึกเป็นธุระในเรื่องส่วนรวมของผู้คนของกลุ่ม หรือส่วนย่อยต่างๆ ที่อยู่ในที่นั้นเป็นสำคัญ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับกิจกรรมความเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะของกลุ่มและองค์กรเหล่านั้นด้วยว่า มีความถี่และความเข้มข้นอยู่ในระดับใด ในกระแสการพัฒนาประเทศที่เน้นเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ได้ทำให้ชุมชนและครอบครัวเป็นอันมากล่มสลายแตกกระจัดกระจาย และเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นกระหน่ำซ้ำ เราจึงพบว่าครอบครัวและชุมชนใดที่มีทุนทางสังคมสูงก็สามารถเผชิญและฝ่าวิกฤตไปได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง ส่วนครอบครัวใดและชุมชนใดที่มีทุนทางสังคมต่ำ แม้มีเศรษฐกิจดี รายได้ดี ก็ไม่สามารถทานทนต่อกระแสทดสอบดังกล่าว ชีวิตสาธารณะคือหัวใจของการฟื้นฟูและสร้างเสริมทุนทางสังคมที่ว่านี้ครับ |
Be the first to comment on "ทำไมต้องชีวิตสาธารณะ"